กรมชลประทานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่คลองร้อยสาย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กรมชลประทานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่คลองร้อยสาย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กรมชลประทานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่คลองร้อยสาย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 ก.ค.67 ที่ห้องประชุมBโรงแรมวังใต้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี น.ส.ลภิณโกพร์ จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจ กรมชลประทาน ร่วมเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่คลองร้อยสาย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน กลุ่มประมง ประชาชนในพื้นที่โครงการ เข้าร่วมรับทราบข้อมูลและรายละเอียดโครงการ
สำหรับพื้นที่คลองร้อยสาย มีพื้นที่ครอบคลุม 6 ตำบล ของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย ตำบลบางใบไม้ ตำบลบางชนะ ตำบลคลองฉนาก ตำบลบางไทร ตำบลคลองน้อย และตำบลบางโพธิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างคลองพุนพินและแม่น้ำตาปี มีความยาวประมาณ 149 กิโลเมตรมีพื้นที่ประมาณ 70,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่คลองต่าง ๆ ทำหน้าที่รับน้ำฝนและมีปริมาณน้ำหลากจากคลองพุนพินและแม่น้ำตาปีก่อนไหลลงสู่ทะเล จากการศึกษาสภาพพื้นที่ปัจจุบันพบว่า คลองเหล่านี้มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน รวมถึงระบายน้ำหลากไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
กรมชลประทาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวจึงมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาศักยภาพการไหลของน้ำในคลองในปัจจุบัน รวมถึงปริมาณน้ำหลากที่ไหลเข้ามาในพื้นที่โครงการ โดยพิจารณาถึงการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาแล้วคัดเลือก แนวทางต่าง ๆ มาศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาความเหมาะสมบรรเทาอุทกภัยพื้นที่คลองร้อยสาย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยผลการศึกษาได้สรุปแนวทางในการปรับปรุงคลองสายหลัก ประกอบด้วยคลองน้อย–คลองบางกล้วย–คลองขวาง–คลองพุนพิน ร่วมกับการปรับปรุงแม่น้ำตาปี และคลองพุนพิน ตั้งแต่บริเวณจุดบรรจบแม่น้ำตาปีและคลองพุนพินไปจนถึงถนนหมายเลข 417 ปรับปรุงคลองบ่อนก และคลองบางกล้วยนุ้ย โดยสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมที่รอบปีการเกิดซ้ำ 50 ปี ได้ถึง7,817 ไร่
สำหรับวันนี้เป็นการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ผู้แทนสถาบันการศึกษาผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชนในพื้นที่โครงการ รวมถึงสื่อมวลชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาขุดลอกคลอง ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษาพร้อมรับฟัง และจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาในรายละเอียดและการดำเนินงานต่อไป
/////////